คุณกำลังมองหาอะไร?

 

 

วัตถุประสงค์และความเป็นมา

กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน กรอบความร่วมมือนี้เป็นข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2555 ที่ประสงค์จะพัฒนากรอบความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง โดยเน้นให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมกระบวนการพัฒนาอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนากรอบความร่วมมือดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และได้ประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน 2558 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation Foreign Ministers' Meeting) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และการประชุมสุดยอดแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation Leaders' Meeting) จัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยมีกระทรวงต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก โดยแนวทางความร่วมมือของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง 3 เสาหลัก ได้แก่

  1. การเมืองและความมั่นคง
  2. เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  3. สังคมและวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน

 

กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC Special Fund: MLCSF)

กองทุนพิเศษฯมีมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จัดตั้งโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก โดยมีข้อกำหนดในการของบประมาณโครงการมูลค่าไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ/โครงการ กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นกองทุนสำหรับการดำเนินโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก (ไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และจีน) ในกรอบความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ 1) ความเชื่อมโยง 2) ศักยภาพในการผลิต 3) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน 4) ทรัพยากรน้ำ และ 5) การเกษตรและการขจัดความยากจน

 

บทบาทการดำเนินงานของกรมอนามัย

กรมอนามัย โดยศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation Special Fund: MLC Special Fund) ประจำปี พ.ศ. 2565 ชื่อโครงการ Improving Maternal and Child Health System in Remote Area and Bordering Thailand - Lao PDR เป็นเงินจำนวน 43,208 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,403,277.92 บาท (หลังหักค่าธรรมเนียม) เพื่อดำเนินโครงการในพื้นที่เมืองคู่ขนานของจังหวัดเชียงรายและแขวงบ่อแก้วในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง - ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 (Memorandum of Understanding on the Cooperation on Projects of the Lancang-Mekong Cooperation Special Fund 2022) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ระหว่างนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายหานจื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อ (1) ปรับปรุงระบบบริการอนามัยแม่และเด็กของหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ (2) เพิ่มจำนวนการคลอดบุตรที่ปลอดภัย โดยการฝึกอบรม/ฝึกทักษะให้แพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ และ (3) ลดอัตราการเสียชีวิตของมารดา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน (National Center for Women and Children’s Health, Chinese Center for Disease Control and Prevention) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Mother and Child Health Center และ Mother Health Promotion Division, Department of Hygiene and Health Promotion (DHHP), Ministry of Health) และไทย (คณะกรรมการอนามัยแม่และเด็ก (MCH Board) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่)

ผลการดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ (1) มีการวางระบบการฝากครรภ์คุณภาพ การคลอดคุณภาพ การดูแลหลังคลอด การส่งต่อ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบบริการที่ได้วางระบบการพยาบาล/การแพทย์ ตามแผนของหน่วยบริการทุกระดับ ตลอดจนมีการจัดตั้งระบบการให้คำปรึกษา (Consult) ผ่าน Whatsapp “ANC&LR Bokeo Province” เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการปรึกษาแพทย์ทางไกล การรักษา และระบบการส่งต่อ โดยเฉพาะสุขศาลาในถิ่นทุรกันดาร (2) บุคลากรสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ผดุงครรภ์ และผู้เกี่ยวข้องด้านอนามัยแม่และเด็กในแขวงบ่อแก้วได้รับการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 150 คน และผู้เข้ารับการอบรมประสงค์ให้มีการทบทวนความรู้อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนเครื่องมือชุดทำคลอด หรือเครื่องมืออื่นที่จำเป็น เช่น เครื่องฟังหัวใจทารกในครรภ์ เครื่องตรวจความเข้มข้นของเลือด รถเข็นคนไข้ เป็นต้น และ (3) จากสถานการณ์ ปี 2566 อัตราส่วนมารดาตายลดลงอย่างชัดเจนซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่กำหนดให้อัตราส่วนการตายมารดาเท่ากับ 100 ต่อแสนการเกิดมีชีพ โดยผลลัพธ์ที่ได้ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดคือ 44.83 ต่อแสนการเกิดมีชีพ นับว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งของโครงการ

ปัจจุบัน ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว

 

 

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

1.Guidelines 2.0.pdf
ขนาดไฟล์ 432KB
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย
Annex 1-project proposal.docx
ขนาดไฟล์ 64KB
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย
Annex 1-1 Budget proposal.xls
ขนาดไฟล์ 24KB
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย
Annex 2-progress report.docx
ขนาดไฟล์ 58KB
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย
Annex 2-1 Financial analysis.xls
ขนาดไฟล์ 24KB
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย
Annex 2-2 Future expenditure proposal.xls
ขนาดไฟล์ 24KB
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย
Annex 3-completion report.docx
ขนาดไฟล์ 53KB
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย
Annex 3-1 Final Financial analysis.xls
ขนาดไฟล์ 24KB
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย